หมวดหมู่: วิเคราะห์-การเมือง

1คสช


คลอด'กรธ.-สปท.' เสริมทัพ'คสช.' ยึดอำนาจ-ไม่เสียของ

มติชนออนไลน์ :วิเคราะห์

      หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โชว์ลีลาบนเวทีโลก สร้างความประทับใจให้กองเชียร์ไทยแล้ว

      พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับเมืองไทย พร้อมออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ หรือเรียกขานชื่อย่อว่า กรธ. จำนวน 21 คน มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

     และแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. จำนวน 200 คน มีกำหนดประชุมนัดแรกวันที่ 13 ตุลาคม เพื่อเลือกประธาน

     รายชื่อ กรธ.ที่ปรากฏ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่นายมีชัยและ นายวิษณุ เครืองาม ทาบทามคัดเลือก

     ส่วนรายชื่อ สปท.เป็นไปตามโควต้าเดิมที่เคยปรากฏเป็นข่าว ประกอบด้วย สปช.เก่า ข้าราชการปัจจุบัน ข้าราชการเกษียณ ตำรวจ-ทหาร นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง

      ในจำนวนนี้มีอดีตนักการเมืองที่เคยอยู่ฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยกระโจนเข้าร่วมด้วยหลายคน

      ทุกคนยื่นหนังสืออำลาพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณบางอย่างให้ปรากฏ

     เป็นสัญญาณ 2 ขั้วปรองดอง? เป็นสัญญาณ "ทักษิณ" ถดถอย

      เป็นสัญญาณการเมืองหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คลอด?

     การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามโรดแมปใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศออกมาและให้สัญญากับโลกไว้

     อย่างไรก็ตาม เมื่อพินิจดูตัวบุคคล ทั้ง กรธ.และ สปท. แต่ละคนล้วนเป็นกลุ่มคนที่จัดอยู่ในจำพวก "คุยกันรู้เรื่อง" ดังนั้น การตั้ง "แม่น้ำ 2 สาย" กลับเข้ามาในทัพ คสช. ไม่ว่าจะเป็น กรธ.หรือ สปท. ย่อมทำให้ คสช.มั่นคงขึ้น

       ทั้งนี้ การได้นายมีชัยมาเป็นประธาน กรธ. ทำให้ท่าทีของคณะกรรมการยกร่างฯ นิ่มกว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุด นายบวรศักดิ์

อุวรรณโณ

     ขณะที่ท่าทีในการร่างรัฐธรรมนูญ "ซอฟต์" ลง แต่เชื่อว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คงไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปจากร่างรัฐธรรมนูญเก่า

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังต้องรักษาเนื้อหามาตรา 35 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ คสช.ต่อไป

หมายความว่า กติกาใหม่ยังคงเน้นที่กีดกันการเมืองเก่า เปิดทางการเมืองใหม่

เพิ่มพลังการตรวจสอบจากคนชนชั้นนำผ่านทางองค์กรตรวจสอบต่างๆ 

      ส่วน สปท.แม้จะแล้วดูไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรมาก เพราะตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไข ระบุให้ สปท.ขับเคลื่อนการปฏิรูปตาม สปช.

อาจมีไอเดียคิดเข้ามาเพิ่ม และร่างกฎหมายออกมาให้เพื่อผลักดันการปฏิรูป

ทั้งหมดยังคงยึดอยู่ในแนวทาง สปช.เดิม

แต่ดูเหมือนว่าการปฏิรูปจะเป็นอีกกลยุทธ์อันแหลมคมของ คสช.

ทั้งนี้เป้าหมายการปฏิรูปเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องก่อนเกิดการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

และเมื่อการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ ก็มีผู้ยกเอา "การปฏิรูป" มาเป็นเหตุผลให้ คสช.อยู่ต่ออีก 2 ปี

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะหากมีการเลือกตั้งตามโรดแมปเดิมคือ ปี 2559 ขั้วอำนาจ ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมา

ดังนั้น เพื่อสกัดขั้ว "ทักษิณ" จึงจำเป็นต้องยืดเวลาออกไป

     ขณะเดียวกัน หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์โดนโหวตตกไป นายวิษณุเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองมีข้อเสนอ "พิสดาร" รวมอยู่ด้วย

ข้อเสนอ "พิสดาร" คือการให้พรรคการเมืองใหม่หรือเก่าต้องเริ่มจดทะเบียนกันใหม่

เปิดโอกาสให้ "นักการเมืองเก่า" ไปอยู่ "พรรคการเมืองใหม่"

เปิดโอกาสให้ "พรรคการเมืองใหม่" กับ "พรรคการเมืองเก่า" ไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันในการเลือกตั้ง

คำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ ทำให้มองเห็นว่า "การปฏิรูป" ไม่ได้ใช้แค่ข้ออ้างเพื่อ "ยืด" ระยะเวลาของ คสช.

เท่านั้น

หากแต่ยังใช้ "รุก" ต่อขั้วการเมืองเก่าอีกด้วย

ดังนั้น สปท.นอกจากจะรับไม้ต่อ สปช.แล้ว ยังมีภารกิจสานต่อการปฏิรูป

ภารกิจที่ส่งผลทั้ง "ยืด" อำนาจปัจจุบัน ทั้ง "รุก" ขั้วอำนาจในอดีต 

การเปิดเกมรุกขั้วอำนาจการเมืองเดิมยังคงดำเนินต่อไปคดีความและเรื่องร้องเรียนที่เป็นชนักติดหลังกลุ่มการ

เมืองเดิม

      น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงคดีอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงเครือข่ายราชการ และภาคธุรกิจที่อิงกับรัฐบาลเก่า

     ล้วนตกอยู่ในอาการทำใจรับสภาพ

      ผลการพิจารณาคำร้อง และการตัดสินคำร้องต่างๆ ทยอยปรากฏให้เห็นผล 

      การส่งฟ้องคดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ยอมสั่งให้ยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าว จนเป็นผลให้เกิดความเสียหายเคลื่อนเข้าสู่การพิจารณาชั้นศาล

      การฟ้องแพ่งอาจไม่ต้องยื่นศาล เพราะถือว่าคำสั่งทางปกครองที่เรียกค่าเสียหายนั้นมีผลบังคับแล้ว

      คาดกันว่า จะเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 แสนล้านบาท

      นอกจากนี้ ฝ่ายความมั่นคงของ คสช. ก็ทำงาน "รักษาความสงบ" อย่างเข้มงวด นักการเมือง และสื่อ ทยอยเข้าไปพบกับฝ่ายทหารเพื่อรับ "ใบเตือน"

    นักวิชาการอีกหลายคนมีทหารเข้าไปทักทายถึงที่อยู่

      ขณะที่รัฐบาลปรับทีมเศรษฐกิจ มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบการฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจไทยก็จูนคลื่นกับ พล.อ.ประยุทธ์

      ใช้เศรษฐกิจบุกฐานการเมืองกลุ่มการเมืองเดิม

      พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเกมใช้ "ประชารัฐ" ตามแนวคิดของ นพ.ประเวศ วะสี แทนการใช้ "ประชานิยม" ตามความถนัดของนักการเมือง

รัฐบาลเริ่มใช้กลไกภูมิภาคกระจายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปในพื้นที่

      ปลุกวิญญาณผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็น "เอเยนต์ เชนจ์" สร้างเอสเอ็มอี และโอท็อปขึ้นมาในพื้นที่

      ส่งเสริมให้จังหวัดเป็นศูนย์กลาง แล้วเสริมแต่งหน่วยงานประสานงานระดับจังหวัดเข้าไป

      เรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ใช้การ "บูรณาการ" บริหาร

       หวังว่า หากฝ่ายราชการเข้มแข็ง เรียกศรัทธาจากประชาชนได้

     "ประชารัฐ" จะเอาชนะ "ประชานิยม" ได้สบายๆ

       เท่ากับว่า นับแต่นี้ไป คสช. รัฐบาล กรธ. และ สปท. มีทิศทางการดำเนินการอย่างชัดแจ้ง

       คสช.ดูแลความมั่นคง กรธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตนา มาตรา 35 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สปท.ขับเคลื่อนการปฏิรูปที่สามารถพลิกแพลงให้กลายมาเป็นกลไกสกัดขั้วอำนาจการเมืองเดิมได้

     ส่วนรัฐบาล หรือ ครม. มีหน้าที่สร้างให้ประชาชนเกิดความศรัทธา 

      ดังนั้น แม่น้ำทุกสายจึงไหลพุ่งไปในแนวทางเดียวกัน

       แนวทางที่ทำให้ คสช.ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

     เป้าหมายที่วางไว้นานแล้ว...เป้าหมายที่มิให้การยึดอำนาจ "เสียเปล่า"

     เป้าหมายที่ไม่ต้องการให้เสียของ....

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!