หมวดหมู่: พาณิชย์

1aaaDBOT จรนทร


จุรินทร์ Non-Stop ลุยนำประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้า ทั้งอาเซียน อาร์เซ็ป และประเทศคู่เจรจา 6 วันซ้อน

     นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญในประเทศไทย กลุ่มสำคัญ ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2562 คือ การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) ครั้งที่ 51 การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) ครั้งที่ 7 และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าอาเซียน 10 ประเทศ กับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา และรัสเซีย (แบบแยกรายประเทศ) รวมทั้งการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงเทพฯ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีทั้งอาเซียนและอาร์เซ็ป

      โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ในวันที่ 5 กันยายน 2562 ในช่วงค่ำที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ตั้งแต่เวลา 19.00 - 21.00 น. ก่อนจะเข้าสู่พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในเวลา 09.00 น.วันที่ 6 กันยายน 2562 ซึ่งนายกรัฐมนตรีประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิด จากนั้นตนจะนั่งเป็นประธานการประชุมตลอดทั้ง 5 วัน สาระที่สำคัญ คือ กำหนดการของวันที่ 7-8 กันยายน 2562 เป็นประธานการประชุมอาร์เซ็ป ที่เราพยายามที่จะให้การเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจกลุ่มนี้หาข้อสรุปให้ได้มากที่สุดเพื่อจะนำไปสู่การประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2562 และตั้งเป้าหมายว่าจะให้การเจรจานี้ เป็นที่ยุตินำไปสู่การลงนามในปีหน้า ซึ่งถ้าเป็นไปตามเป้าหมายและ มีผลบังคับใช้ จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากคือมีตลาดการค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่ประชากรรวมกันร้อยละ 50 ของโลกคือ 3,500 ล้านคน…………………………………………………………………

    รายงานข่าวกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความใส่ใจการประชุมทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นอย่างมาก โดยทำการประชุมเตรียมการร่วมกับข้าราชการระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียดเพื่อการควบคุมการประชุมในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุม 5 วันอย่างมีประสิทธิภาพ

     สำหรับ การประชุม AEM หรือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่สำคัญมาก โดยการประชุมที่สำคัญคือ

    1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Official Meeting :SEOM) ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2562 เพื่อเตรียมการก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

     2. การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2562 ซึ่งรัฐมนตรีอาเซียน 10 ประเทศ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย เป็นประธานการประชุม จะร่วมกันหารือสรุปความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนนับตั้งแต่ไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ

     3. การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป 16 ประเทศ ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2562 โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจา RCEP และปลดล็อคประเด็นติดขัดที่ยังเหลืออยู่ เพื่อกรุยทางให้ผู้นำประกาศสรุปผลการเจรจาในช่วงการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ปในเดือนพฤศจิกายนนี้

      4. การประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าอาเซียน 10 ประเทศ กับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา และรัสเซีย (แบบแยกรายประเทศ) ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2562 โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ และเตรียมการก่อนที่ผู้นำอาเซียนจะพบกับผู้นำของ คู่เจรจา 10 ประเทศ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ

       ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมกันลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่

     1. ข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะถ้ายานยนต์และชิ้นส่วนผ่านการตรวจสอบรับรองของหน่วยงานทดสอบมาตรฐานในประเทศสมาชิกอาเซียนหนึ่งแล้ว เมื่อส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็ไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ เพราะถือว่าได้ยอมรับผลการตรวจสอบนั้นแล้ว

      และ 2. พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรับปรุง เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเป็นไปตามหลักการและกระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับอาเซียนหากมีปัญหาหรือข้อพิพาทระหว่างอาเซียน เนื่องจากการใช้มาตรการทางการค้าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาเซียนก็จะมีกลไกการหารือแก้ไขข้อพิพาทกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งการตัดสินขององค์กรนอกอาเซียน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ถือเป็นความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อาเซียนใช้เวลาเจรจาหาข้อสรุปกันอยู่นานเกือบสิบปี ซึ่งสำเร็จได้ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้

    สำหรับ ความสำเร็จการทำงานของเสาเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ เตรียมรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มีหลายเรื่อง อาทิ

            1. การจัดทำระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) โดยดำเนินการสำเร็จแล้ว และพร้อมใช้ระบบนี้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งจะส่งผล ให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีของอาเซียนด้วยตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) จากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป ช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

            2. การจัดทำระบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ (ASEAN Single Window: ASW) ใกล้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้มีสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และกัมพูชา ได้เชื่อมต่อระบบและแลกเปลี่ยน Form D ทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังเหลือสมาชิกอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เมียนมา และ สปป.ลาว ที่อยู่ระหว่างทดสอบระบบ ซึ่งมีความคืบหน้ามากและพร้อมดำเนินการให้สำเร็จ เชื่อมต่อระบบให้ครบ 10 ประเทศ ภายในปีนี้ หากระบบ ASW สมบูรณ์ จะสามารถยื่น Form D ผ่านระบบออนไลน์และหน่วยงานของรัฐที่ด่านพรมแดน สามารถตรวจเช็คเอกสาร และปล่อยสินค้าได้อย่างรวดเร็ว

    และ 3. การตัดสินใจทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ซึ่งบังคับใช้มาแล้ว 8 ปี ให้ทันสมัย สามารถรองรับรูปแบบการค้าในปัจจุบันและลดอุปสรรคทางการค้า เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนแล้ว ยังเป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยในภาพรวมอีกด้วย

    ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 (ม.ค. - มิ.ย.) มีมูลค่าการค้ารวม 53,557.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 31,316.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 22,240.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเกินดุล 9,076.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.47 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!