หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS7 22


ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 'บ. ช. การช่าง'เป็น 'A' จาก 'A-'แนวโน้ม 'Stable'

     ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ 'A' จากเดิมที่ระดับ'A-'ด้วยแนวโน้มStable’ หรือ’คงที่’โดยอันดับเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความยืดหยุ่นของบริษัทที่สูงขึ้นในการปรับตัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในกลุ่มบริษัทในเครือซึ่งสร้างผลตอบแทนที่ดี แนวโน้มการเติบโตของกำไรของบริษัท และภาระหนี้ของบริษัทที่ลดลง

       อันดับเครดิตยังสะท้อนรวมถึงสถานะความเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความแข็งแกร่งในการดำเนินโครงการและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เกิดจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

 

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง

    บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งซึ่งเกิดจากการมีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศของบริษัท บริษัทมีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างที่หลากหลายครอบคลุมงานก่อสร้างทั่วไป เช่น งานก่อสร้างถนน ทางด่วน อาคาร และสะพาน ไปจนถึงงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง เช่น งานโครงการระบบขนส่งใต้ดินและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

    บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อันดับที่ 2 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อพิจารณาในแง่ของรายได้และสินทรัพย์ ทั้งนี้ บริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ยาวนานและการมีฐานทุนขนาดใหญ่ยังช่วยให้บริษัทสามารถเข้าร่วมประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐได้อีกด้วย

การลงทุนเชิงกลยุทธ์ช่วยสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ

      อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความสามารถในการบริหารจัดการแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท นอกจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแล้ว บริษัทยังมีกลยุทธ์ในการสร้างฐานรายได้ประจำเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างด้วย

      บริษัทลงทุนและคงสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานหรือสัญญาซื้อขายระยะยาว

       ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการขยายสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำในระดับหนึ่งซึ่งช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากวงจรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างลงได้ บริษัทเหล่านี้ได้จ้างให้บริษัทดำเนินโครงการก่อสร้างจำนวนมากที่เป็นส่วนของการขยายงานของแต่ละบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินปันผลจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอและมีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนอีกด้วย

 

ความสามารถในการปรับตัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

     การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงความยืดหยุ่นของบริษัทในการปรับตัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้มากขึ้นจากการลงทุนของบริษัท พิจารณาจากการที่บริษัทในเครือมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทั้งบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพและ บริษัทซีเคพาวเวอร์

     ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากทั้ง 2 บริษัทประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากบริษัททีทีดับบลิวประมาณ 450-500 ล้านบาทต่อปี การลงทุนเชิงกลยุทธ์นี้ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทจากการที่บริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าตลาดของทั้ง 3 บริษัทก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

      อย่างไรก็ตาม การลงทุนเชิงกลยุทธ์ดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งบริษัทยังต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินในบางโครงการซึ่งเป็นสัญญาสัมปทานในรูปแบบผู้สนับสนุนโครงการ ซึ่งทำให้ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้

     ทริสเรทติ้ง มองว่าปัจจุบันทั้งบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพและบริษัทซีเคพาวเวอร์มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแรงและสามารถที่จะระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการของตัวเองได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าในอนาคตบริษัทจะไม่ต้องให้การสนับสนุนทางด้านการเงินจำนวนมากกับบริษัทร่วมทั้ง 2 แล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรักษาระดับภาระหนี้ในปัจจุบันเอาไว้ได้

ความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

     ทริสเรทติ้ง ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกสำหรับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากนโยบายการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง บริษัทมีความพร้อมในการประมูลงานเหล่านี้เพื่อเพิ่มมูลค่างานในมือของบริษัทที่กำลังลดลง

       อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างยังคงเป็นปัจจัยกดดันอันดับเครดิตต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นการแข่งขันกันอย่างรุนแรงของผู้รับเหมาก่อสร้างจะส่งผลกดดันต่ออัตรากำไร เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันกันซึ่งจะลดอัตรากำไรของผู้รับเหมาก่อสร้างในที่สุด อีกทั้ง ยังมีความเสี่ยงจากความล่าช้าในขั้นตอนการประมูลงานและการจัดจ้างในโครงการภาครัฐอีกด้วย

 

กำไรและกระแสเงินสดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น

     ภายใต้ประมาณการ 3 ปีของทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 30,000-33,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 มูลค่างานรับเหมาก่อสร้างในมือที่ระดับปานกลางที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของประมาณการรายได้ในปี 2562 และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ในปี 2563 และ 15% ในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 8% กำไรขั้นต้นจะทรงตัวที่อย่างน้อย 2,700 ล้านบาทต่อปี จากการคาดว่ารายได้จากบริษัทร่วมจะสูงขึ้นนั้น ทริสเรทติ้งประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,000-4,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 เมื่อเทียบกับ 3,300-4,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 2,600-3,000 ล้านบาทต่อปี

 

คาดว่าภาระหนี้จะลดลง

        การปรับเพิ่มอันดับเครดิตพิจารณารวมถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะมีภาระหนี้ที่ลดลงในอนาคต บริษัทมีภาระหนี้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2560 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 57.2% ลดลงจากระดับ 65%-70% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากที่มีการโอนภาระเงินกู้ยืมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงไปให้แก่บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทยังทรงตัวอยู่ในระดับ 52.9% ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทต้องให้การสนันสนุนเงินกู้ยืมระยะยาวในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีประมาณ 14,000 ล้านบาท

         ในประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาภาระหนี้ให้อยู่ที่ระดับ 50%-55% เอาไว้ได้ เนื่องจากระดับการสนับสนุนทางการเงินที่บริษัทจำเป็นต้องให้แก่บริษัทร่วมน่าจะลดลง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะลดลงและทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 7 เท่า ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงกว่าบริษัทรายอื่น ๆ ที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับเท่ากัน เนื่องจากการประเมินอันดับเครดิตพิจารณาถึงภาระหนี้ของบริษัทที่มีโครงสร้างทางธุรกิจที่เป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ประกอบธุรกิจลงทุนด้วย ซึ่งภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงได้อีก หากเงินให้กู้ยืมเพื่อสนับสนุนโครงการไซยะบุรีมีการชำระคืนด้วยการกู้ยืมใหม่

 

สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้

      บริษัทมีสภาพคล่องที่สามารถบริหารจัดการได้ โดย ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีเงินสดจำนวน 8,500 ล้านบาทและมีเงินลงทุนชั่วคราวอีกจำนวน 400 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 1,500 ล้านบาทและเงินปันผลจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะมีจำนวนประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าบริษัทจะชำระหนี้ด้วยเงินรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหรือการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ จากสถานะในตลาดทุนและอันดับเครดิตของบริษัท ความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่ของบริษัทค่อนข้างต่ำ

       นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านความยืดหยุ่นทางการเงินจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนทั้ง 3 แห่ง โดย ณ สิ้นปี 2561 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 66,600 ล้านบาท หรือประมาณ 1.8 เท่าของภาระหนี้รวมของบริษัท อย่างไรก็ดี บริษัทมีแนวโน้มที่จะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัททั้ง 3 แห่งนี้ในระดับหนึ่งต่อไป

      ในช่วงปี 2562-2564 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมนั้นคาดว่าจะอยู่สูงกว่า 8% ทั้งนี้ บริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่าเอาไว้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหุ้นกู้ โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.08 เท่า ณ สิ้นปี 2561

 

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

•             คาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-33,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564

•             อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะรักษาระดับไว้ที่อย่างน้อย 8%

•             บริษัทสามารถได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่มูลค่า 30,000-35,000 ล้านบาทต่อปี

•             เงินสนับสนุนให้กู้ยืมในโครงการไซยะบุรียังคงมีอยู่ในช่วงหลายปีข้างหน้า

•             ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่หรือการสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน

 

แนวโน้มอันดับเครดิต

      แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่' สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ได้งานใหม่จากโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น บริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับ 8% เอาไว้ได้แม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงก็ตาม เงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี และบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในช่วง 50%-55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

 

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

   การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัด แต่จะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มได้อย่างมีนัยสำคัญ และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงและอยู่ต่ำกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องได้ ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 50% เอาไว้ได้

      ในขณะที่ปัจจัยลบสำหรับอันดับเครดิต ได้แก่ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดจากความล่าช้าและการมีต้นทุนก่อสร้างในโครงการหลัก ๆ ที่สูงกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากผลการดำเนินงานลดลงอย่างมาก หรือมีการลงทุนขนาดใหญ่ หรือมีการให้การสนับสนุนทางการเงินที่มีมูลค่าสูงแก่บริษัทในกลุ่ม ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนสูงเกินกว่า 60% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550

บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)

อันดับเครดิตองค์กร:             A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

CK197A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562      A

CK198A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!