หมวดหมู่: ไอที-เทคโนฯ

1aaa1Ania


เอ็นไอเอ ชี้ 3 สินค้านวัตกรรมเสี่ยงภัยโดนใจนักก็อป พร้อมดัน 'มายด์เครดิต'

โปรแกรมติดอาวุธทรัพย์สินทางปัญญา แนะผปก.ยุคใหม่ต้องใส่ใจสิทธิบัตร

    สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยการพัฒนาสินค้าและบริการด้านนวัตกรรมไทยยังมีอุปสรรคจากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในสินค้านวัตกรรมกลุ่มอาหาร กลุ่มไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเวชภัณฑ์และเครื่องสำอางที่ปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง พร้อมชี้การตระหนักและการเข้าถึงด้านดังกล่าวของผู้ประกอบการและนวัตกรของไทยยังมีอุปสรรคทั้งด้วยการขาดความรู้ความเข้าใจ เงินทุนสนับสนุน การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะต้องผลักดันให้เข้าถึงในปริมาณที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี ภายใต้การดำเนินงานของ NIA มีกลไกสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพนวัตกรรมด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยกลไกที่ชื่อว่า MIND CREDIT : มายด์เครดิต ทุนสนับสนุนค่าบริการที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญสำหรับสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจะเน้นให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นในการแข่งขัน อาทิ การดำเนินการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร/เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยและต่างประเทศ คำปรึกษาด้านสัญญาและการเจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

       ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าและการบริการที่มีนวัตกรรมเกี่ยวข้อง เมื่อถูกนำออกสู่ตลาดหรือวางจำหน่ายกำลังประสบปัญหาการถูกลอกเลียนในระดับที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำ การดัดแปลง การตกแต่ง ทำให้การเติบโตของสินค้าและบริการในตลาดนวัตกรรมมีวงจรที่สั้น ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่นัก จากอุปสรรคดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีแนวทางป้องกันด้วยการ “คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา” ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรม พร้อมช่วยให้ผลิตภาพทางการผลิตหรือทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

              แต่อย่างไรก็ตาม การตระหนักและการเข้าถึงด้านดังกล่าวของผู้ประกอบการและนักนวัตกรรมของไทยก็ยังมีอุปสรรคทั้งด้วยการขาดความรู้ความเข้าใจ เงินทุนสนับสนุน การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การมีความเชื่อและแนวคิดที่มองว่าก่อให้เกิดความยุ่งยาก ดังนั้น เพื่อให้สิ่งเหล่านี้สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ขณะนี้จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมทั้งการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมและการเข้าถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ควบคู่กันไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการสูญเสียโอกาสการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและการบริการ พร้อมรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับให้กับเฉพาะบุคคลและองค์กร

        ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าและบริการทางนวัตกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงพบว่าอยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้

·       สินค้านวัตกรรมกลุ่มอาหาร เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผลิตได้ง่าย สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกเพศทุกวัย จึงอาจทำให้ผู้ซื้อละเลย สับสน หรือเกิดความเข้าใจในตัวสินค้านวัตกรรมที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะความเหมือนหรือคล้ายคลึงของบรรจุภัณฑ์ ชื่อทางการค้าและตราสินค้า ส่วนผสม คำโฆษณาชวนเชื่อ ช่องทางและรูปแบบการออกจำหน่าย โดยสินค้าที่มักถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม และอาหารพร้อมรับประทาน

·       สินค้าและบริการนวัตกรรมในกลุ่มไอที อิเล็กทรอนิกส์ จากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของโลก หรือ Digital Disruption เป็นเหตุให้ชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกต้องพึ่งพาสินค้าหรือการบริการที่มีความทันสมัยและไวต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การค้นหาข้อมูล ความบันเทิง ความสะดวกสบาย เป็นผลให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางนวัตกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมเหล่านี้ตามมาอย่างมากมาย และยังทำให้มูลค่าในตลาดสินค้านวัตกรรมเหล่านี้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดการอาศัยช่องทางต่างๆผลิตสินค้าออกมาเลียนแบบสินค้าเดิมที่มีอยู่ในตลาดหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ ระบบซอฟต์แวร์ โปรแกรมต่างๆในคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร รวมไปถึงการดาวน์โหลดสื่อบันเทิงประเภทต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงมีปริมาณสูงตามมูลค่าการตลาดเช่นเดียวกัน

·       สินค้านวัตกรรมในกลุ่มเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นสินค้าที่กำลังมีอิทธิพลและเข้าสู่การเป็นปัจจัยที่ 5 ในหลายๆกลุ่มผู้บริโภค โดยในปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจและผลิตสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งตลาดสินค้าที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้สูงในทุกๆปี แต่อย่างไรก็ตาม การมีสินค้าประเภทดังกล่าวจำนวนมาก นับเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการเลียนแบบสินค้าตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับไฮเอนด์ โดยเฉพาะการทำซ้ำและการดัดแปลง ทั้งชื่อและตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ ลักษณะทางกายภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังสามารถพบเห็นได้บนช่องทางการขายทั่วไป พร้อมทั้งกลายเป็นเรื่องที่ปกติไปแล้วอีกด้วย

               ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าหรือบริการทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการและผู้สร้างสรรค์ผลงานถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หนึ่งในการจัดการปัญหาที่สำคัญอาจต้องเริ่มที่ตัวผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น การหมั่นเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ผู้เลียนแบบไม่สามารถตามได้ทัน การขยายช่องทางจำหน่ายเพื่ออุด ช่องว่างที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมด้วยการเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนและวางกลยุทธ์ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้รัดกุม เช่น สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ให้กับนวัตกรรมของตนไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของผู้อื่นและเกิดการกระทำซ้ำในปริมาณที่สูงขึ้น

       ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินงานของ NIA มีกลไกสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรม รวมถึงด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยกลไกที่ชื่อว่า MIND CREDIT (มายด์ เครดิต) ซึ่งจะทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงคำปรึกษาด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเน้นให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร/เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยและต่างประเทศ คำปรึกษาด้านสัญญาและการเจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การให้คำปรึกษา/การสืบค้นงานที่ปรากฏอยู่แล้วเกี่ยวกับการประดิษฐ์ การจดแจ้งลิขสิทธิ์ คำปรึกษา/ประเมินความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิบัตรของบุคคลอื่น ซึ่งจะให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมตั้งแต่สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ โดยมีทุนสนับสนุนค่าบริการที่ปรึกษาสูงสุด 1 ล้านบาทต่อ 1 โครงการ รวมถึงยังมีการให้คำปรึกษาในด้านที่สำคัญต่อการประกอบธุรกิจนวัตกรรมอีก 3 สาขา ได้แก่ สาขากฎหมายธุรกิจและการขึ้นทะเบียน/การขอใบอนุญาตจากภาครัฐ สาขาการเงิน/บัญชี และการลงทุน และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 อีกด้วย ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป

        สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02 – 0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ Facebook.com/NIAThailand         

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!