หมวดหมู่: อุตสาหกรรม

Ieatสมจณณ พลก


กนอ. เปิดรับฟังความเห็นเอกชนครั้งสุดท้าย ก่อนเปิด TOR พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ภายใน ต.ค.นี้

      น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้จัดกิจกรรมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งสุดท้าย พร้อมรับฟังรายละเอียดความก้าวหน้าผลการศึกษาโครงการต่างๆ โดยคาดว่าจะออกหนังสือชี้ชวนเอกชนทั้งในและต่างชาติที่สนใจเข้าร่วมลงทุนได้ภายในเดือนตุลาคม ปี 2561 และกำหนดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอได้ภายในเดือนมกราคม 2562 และคาดว่าจะสามารถได้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และโครงการฯ จะสามารถพร้อมเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2568

      "การสัมมนาการรับฟังความคิดเห็น (Market Sounding) ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 100 คนและได้รับความสนใจจากหน่วยงานของภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องเราจึงมั่นใจว่าการดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้" ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

      ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการของ EEC Project List ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และกำหนดให้เป็นโครงการเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีเป้าหมายในการพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการนำเข้าพลังงาน มีพื้นที่รวมทั้งโครงการราว 1,000 ไร่ แบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเล งานระบบสาธารณูปโภค งานอุปกรณ์เดินเรือ และการพัฒนาท่าเรือก๊าซบนพื้นที่ 200 ไร่ ช่วงที่ 2 การลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และการบริหารจัดการท่าเรือของเหลวบนพื้นที่ 200 ไร่ และพื้นที่ 150 ไร่ สำหรับธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับสินค้ากลุ่มน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเหลว คาดว่าจะสามารถขนถ่ายผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้รวมประมาณ 15 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า

       ก่อนหน้านี้ กนอ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 และวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มธุรกิจเอกชนที่ให้ความสนใจโครงการ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่าเรือของเหลว กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสายการเดินเรือของเหลว กลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง สถาบันการเงิน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐได้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม

               อินโฟเควสท์

หวั่นเฟส 3 มาบตาพุดซบเซา

      ราชเทวี * กนอ.เผยเอกชนห่วงท่าเรือมาบตาพุดซบเซา หลัง กกพ.อนุมัติเพียง 2 รายใช้พื้นที่นำเข้าแอลเอ็นจี ด้าน "อุตตม" จับมือเจโทร ดึงมิเอะตั้งสถาบันหนุนสตาร์ทอัพด้านอาหารในเดือน พ.ย.นี้

     นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังร่วมกิจกรรมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนครั้งที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ว่า ภาพรวมการรับฟังความเห็นเอกชน ประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียนั้น ประเด็นสำคัญที่มีความกังวลมากที่สุด คือจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธินำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยังน้อยอยู่ จากปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการที่ได้สิทธินำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพียง 2 ราย คือ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

       ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือเพื่อปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาให้เปิดกว้างสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการนำเข้า LNG มากขึ้น ซึ่ง กนอ.จะหารือกับ กกพ.ถึงแนวทางปรับปรุงเกณฑ์พิจารณาให้มีความคล่องตัวขึ้น

       "โครงการนี้มีมูลค่าลงทุนประมาณ 55,400 ล้านบาทแบ่งเป็นการลงทุนเอกชน 70% และ กนอ.ลงทุน 30% ในรูปแบบลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ระยะเวลาลงทุน 5 ปี ขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) เพราะเป็นโครงการถมทะเล และเชื่อว่าโครงการนี้จะผ่านอีเอชไอเอภายในสิ้นปีนี้" นางสาวสมจิณณ์กล่าว

       นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงความร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (เจโทร) ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้จะร่วมมือระหว่างกันทั้งเรื่องการพัฒนาบุคลากร สิ่งแวดล้อม และเมืองใหม่ โดยในเดือน พ.ย.นี้ผู้ว่า ราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น จะเดินทางมาที่ประเทศไทย

      "การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อจะตอกย้ำความร่วมมือและ จะร่วมจัดตั้งศูนย์ไทย-มิเอะอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ ที่จะร่วมกันผลักดันการพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) โดยเบื้องต้นจะเน้นที่การดูแลอุตสาห กรรมอาหาร และการแปรรูปอา หาร ที่จังหวัดมิเอะมีความเชี่ยว ชาญ ซึ่งจะอยู่ในความดูแลของสถาบันอาหาร ก่อนที่จะขยายขอบเขตการพัฒนาไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ โดยจะเชื่อมโยงความร่วมมือกับมหาวิทยา ลัยในประเทศไทย" นายอุตตมกล่าว

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!