หมวดหมู่: กสทช.

NBCTฐากร ตณฑสทธ


กสทช.เคาะประมูลคลื่น 900 MHZ วันที่ 18 ส.ค.-คลื่น 1800 MHz วันที่ 19 ส.ค.พร้อมปรับเกณฑ์ซอยย่อยเป็น 9 ใบอนุญาต

      นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.เห็นชอบข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ให้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) ในวันที่ 18 ส.ค.และจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 19 ส.ค.นี้

      พร้อมกันนั้น ยังจะมีการปรับหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 1800 MHz โดยแบ่งใบอนุญาตที่จะจัดการประมูลออกเป็น 9 ใบ ขนาดความถี่ใบละ 5 MHz ผู้ประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นใบละ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท

     สำหรับ กรอบเวลาในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะดำเนินการคู่ขนานกันไป ดังนี้

-วันที่ 5 ก.ค.61 จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ทั้งสองฉบับไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

-วันที่ 6 ก.ค.-7 ส.ค.61 ดำเนินการเชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 8 ส.ค.61 เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 9-13 ส.ค.61 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล

-วันที่ 15 ส.ค.61 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ

-วันที่ 16-17 ส.ค.61 ชี้แจงกระบวนการประมูลและ Mock Auction

-วันเสาร์ที่ 18 ส.ค.61 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz

-วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค.61 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz

       ทั้งนี้ กสทช.ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.นำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวกับใบอนุญาตที่จะปรับเป็นใบอนุญาตแบบใบเล็ก 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz เป็นเวลา 3 วัน ในวันที่ 26-28 มิ.ย.61 ก่อนจะนำมาพิจารณาในที่ประชุม กสทช. อีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค.61

      นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช.ยังรับทราบที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) มีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช.แจ้งความพร้อมจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHzโดยทาง DTAC มีเงื่อนไขว่า หาก DTAC เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz และชนะการประมูล DTAC มีความจำเป็นต้องขอใช้คลื่นทั้งหมด 10 MHz ตามสัมปทานเดิมไปก่อนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่ได้มีคลื่นย่านนี้ไปใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบัน DTAC มีจำนวนอุปกรณ์สถานีฐานภายใต้ระบบสัมปทานอยู่ประมาณ 13,000 สถานี ที่จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงการใช้งานให้สอดคล้องกับคลื่นย่านใหม่ด้วย

       อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz ยังคงเหมือนเดิม คือ ใบอนุญาต 1 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz โดยแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด ดังนี้ งวดที่ 1 ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน, งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต, งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

     นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช. ได้กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค.61 โดยหากมีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นดังกล่าวเพียง 1 ราย กสทช. จะดำเนินการยืดระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน นับจากวันประมูล เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือรายอื่นได้เข้าร่วมประมูล และจะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาทันที ในกรณีที่ดีแทค ต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เท่านั้น ซึ่งหากดีแทคไม่เข้าร่วมประมูล ก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเยียวยา ซึ่งทาง DTAC จะต้องเร่งดำเนินการย้ายลูกค้าไปยังคลื่นที่มีอยู่ ก่อนหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ในวันที่ 15 ก.ย.61

       "นอกจาก DTAC แล้ว ยังไม่มีรายอื่นที่แจ้งความประสงค์ว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ขณะที่คลื่น 1800 MHz เชื่อว่า เมื่อแบ่งใบอนุญาตเป็น 9 ใบอนุญาต ก็น่าจะมีคนสนใจเข้าร่วม เนื่องจากมีความสามารถในการชำระเงินค่าใบอนุญาตได้มากขึ้น และหากขายไม่หมด 9 ใบ ทางกสทช. ก็อาจจะเก็บไว้สักระยะหนึ่งก่อน หรือเปิดประมูลต่อไปเลย ส่วนกรณีที่ไม่มีใครเข้าประมูลเลย ก็จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบอร์ดกสทช.ต่อไป"

       นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ที่ชนะประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กสทช.ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ชนะประมูลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับภาระในการลงทุนระบบป้องกันการรบกวนรถไฟฟ้าความเร็วสูงของภาครัฐ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.2 พันล้านบาท โดยทางกสทช. จะหักจากเงินค่าประมูลคลื่นดังกล่าวไม่เกิน 2 พันล้านบาท เช่น ราคาเริ่มต้นประมูล 37,988 ล้านบาท หากประมูลไปถึง 40,000 ล้านบาท ผู้ชนะประมูลจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาต ประมาณ 38,000 ล้านบาท เป็นต้น

กสทช.เคาะประมูลคลื่น 900 MHz 18 ส.ค.นี้ และ 1800 MHz 19 ส.ค.นี้

    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยในงานแถลงข่าว "ผลการประชุม กสทช. วันที่ 25 มิ.ย. 2561" ว่า กสทช.เห็นชอบให้ประมูลคลื่น 1800 MHz เป็น 9 ใบอนุญาต กำหนดเคาะ 19 ส.ค.นี้ พร้อมเตรียมเคาะวันประมูลคลื่น 900 MHz 18 ส.ค.นี้ หลัง DTAC แจ้งเข้าร่วม

 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นวาระพิเศษเพื่อพิจารณาวาระเกี่ยวกับเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz โดยที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง และสถานการณ์ปัจจุบันแล้วเพื่อความรอบคอบจึงได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. นำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวกับใบอนุญาตที่จะปรับเป็นใบอนุญาตแบบใบเล็ก 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz เป็นเวลา 3 วัน ในวันที่ 26 – 28 มิ.ย. 2561 ก่อนจะนำมาพิจารณาในที่ประชุม กสทช. อีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค. 2561

 โดยการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แบบใบเล็ก ใบอนุญาตละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นต่อหนึ่งใบอนุญาต (5 MHz)ราคา 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท ซึ่งหากว่าขายไม่ครบทั้ง 9 ใบ หรือไม่มีผู้เข้าประมูลเลย ก็จะยืดเวลาในการเข้าประมูลไปอีกระยะเวลาหนึ่งหรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ กสทช.

 พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบกรอบเวลาในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป โดยวันที่ 5 ก.ค. 2561 จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ทั้งสองฉบับไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา,วันที่ 6 ก.ค. – 7 ส.ค.2561 ดำเนินการเชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล,วันที่ 8 ส.ค. 2561 เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล,วันที่ 9 – 13 ส.ค. 2561พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล,วันที่ 15 ส.ค. 2561 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ,วันที่ 16 – 17 ส.ค. 2561 ชี้แจงกระบวนการประมูลและ Mock Auction,วันเสาร์ที่ 18 ส.ค. 2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz และวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค.2561 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz

 ทั้งนี้ ตามที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. แจ้งพร้อมเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยมีเงื่อนไขว่าหาก DTAC เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และชนะการประมูล DTAC มีความจำเป็นต้องขอใช้คลื่นทั้งหมด 10MHz ตามสัมปทานเดิมไปก่อนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่ได้มีคลื่นย่านนี้ไปใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบัน DTAC มีจำนวนอุปกรณ์สถานีฐานภายใต้ระบบสัมปทานอยู่ประมาณ13,000 สถานี ที่จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงการใช้งานให้สอดคล้องกับคลื่นย่านใหม่ด้วย

 ส่วนกรณีที่ DTAC ได้ขอยื่นมาตรการเยียวยา กสทช.ยังไม่สามารถทำให้ได้เนื่องจากทาง DTAC จะต้องขอเข้าประมูลคลื่นดังกล่าวก่อน ซึ่งในตอนนี้ทาง DTAC ต้องเร่งย้ายลูกค้าไปบนคลื่นความถี่อื่นก่อนจะหมดสัปทานลง

 ทั้งนี้ หากมีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว กสทช.จะทำการยืดระยะเวลาในการประมูลไปอีก 30 วัน

      สำหรับ กฎเกณฑ์ในการเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กสทช.ยังคงกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลและการชำระเงินตามหลักเกณฑ์เดิมไปก่อน โดยคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวนใบอนุญาต 1 ใบ 5 MHz แต่ได้เพิ่มเงื่อนไขการรับภาระอย่างการลงทุนระบบการป้องกันความปลอดภัยเพื่อไม่ให้รบกวนการใช้ในรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะหักเงินจากการประมูลไม่เกิน 2 พันล้านบาท

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

 

กสทช. เตรียมชงบอร์ด ปรับเกณฑ์ประมูลคลื่น 900 MHz หลังวันนี้ไร้ผู้สนใจ

ฟาก DTAC ติง ระบบป้องกันคลื่นยังไม่ชัดเจน - เหมาะกับรถไฟเร็วสูงมากกว่า แย้มอยู่ระหว่างศึกษาเปิดประมูล 5G แต่ยังติดเรื่องผู้ประกอบการมีคลื่นไม่เพียงพอ  

  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยหลังจากงานยื่นเอกสารประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz วันนี้ ว่าหลังวันที่ 19 ส.ค.นี้ จะเสนอคณะกรรมการ กสทช.พิจารณาปรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เนื่องจากในการเปิดประมูลรอบนี้ไม่มีผู้สนใจ หลังจากมีแค่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เข้ามา ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz

  โดยทาง DTAC ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อ กสทช. ถึงกรณีไม่สนใจคลื่น 900 MHz ว่าการทำระบบป้องกันการรบกวนที่ยังไม่มีความชัดเจน และกสทช.ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ในย่านนี้จำนวน 5 MHz ให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินงาน

  สำหรับ การเยียวยาคลื่น 900 MHz ตามมติที่ประชุม กสทช.ที่ผ่านมาได้ระบุไว้ว่าการเข้าสู่กระบวนการเยียวยา จะต้องเป็นผู้เข้าประมูลในคลื่นความถี่ 900 MHz เท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ทาง DTAC ยังไม่ได้ยื่นหนังสือให้มีการทบทวนมติที่ประชุม กสทช.ในเรื่องดังกล่าว

      ส่วนขั้นตอนการประมูลคลื่น 1800 MHz จากนี้ ในวันที่ 9-13 ส.ค.61 จะพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล และในวันที่ 15 ส.ค.61 จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ ก่อนที่ 16-17 ส.ค.61 จะชี้แจงกระบวนการประมูล และ Mock Auction และเคาะราคาประมูลในวันที่ 19 ส.ค.61

     ด้านการเปิดประมูลคลื่น 5G ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งเบื้องต้นผู้ประกอบการจะต้องมีคลื่นความถี่เพียงพอ คือไม่น้อยกว่า 100 MHz แต่ในปัจจุบันยังไม่มีรายใดถือครองคลื่นได้ตามกำหนด โดยมีผู้ถือคลื่นสูงสุดอยู่ที่ 55 MHz เท่านั้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

 

นักวิชาการคาด กสทช.ทบทวนเกณฑ์ประมูลคลื่น 900 MHz หลังปี 65 เชื่อเคาะราคาคลื่น 1800 MHz ไม่ร้อนแรง

     นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงความคิดเห็นต่อการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 1800 MHz ว่า การที่ไม่มีผู้เข้าประมูลคลื่น 900 MHz แสดงว่าเอกชนมองว่าราคาและเงื่อนไขของการประมูลคลื่น 900 MHz ไม่เอื้อหรือดึงดูดให้สนใจเข้ามาลงทุน โดยราคาตั้งต้นที่สูงและมีคลื่นขนาดแถบความถี่ (Bandwidth) เพียง 5 MHz

       อีกเหตุผลที่สำคัญ คือ เงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องจัดทำการป้องกันการรบกวนกับความถี่ข้างเคียงที่อาจจะมีการใช้กับอาณัติสัญญาณของระบบราง ที่แม้จะมีการให้เป็นส่วนลดเพื่อหักจากค่าประมูลแต่จะเห็นว่าอาจมีความยุ่งยากต่อไปได้ในอนาคตร่วมถึงเพดานของต้นทุนของระบบป้องกันการรบกวนดังกล่าวอาจสูงกว่าที่ประเมิน ทั้งหมดเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เอกชนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและไม่สนใจคลื่น 900 MHz

      ฉะนั้น อนาคตของคลื่น 900 MHz นอกเหนือจากการต้องรอความชัดเจนในเรื่องการนำไปใช้กับระบบรางตามที่กระทรวงคมนาคมร้องขอ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่การนำไปใช้ และระบบที่จะใช้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการระบบรางรายใดเนื่องจากในอนาคตจะมีหลายราย และหลายระบบทั้งรถไฟเดิม รถไฟไทย-จีน รถไฟไทย-ญี่ปุ่น รถไฟ EEC เชื่อมสามสนามบิน ที่แต่ละรายอาจจะมีเทคโนโลยีสำหรับระบบอาณัติสัญญาณและใช้คลื่นที่ต่างกัน โดยอาจจะขอความถี่ กสทช.มาเพิ่มก็ได้ ดังนั้น แม้คลื่น 900 MHz จะยังไม่ได้ถูกประมูลไปในครั้งนี้ หรือหากส่วนของระบบรางไม่ได้มีการนำไปใช้หรือมีความชัดเจน หลังปี 65 กสทช.อาจทบทวนและดึงกลับมาจัดสรรกับกิจการที่เหมาะสมใหม่

    สำหรับ การประมูลวันที่ 19 ส.ค.เชื่อว่าการเคาะราคาไม่น่าดุเดือด โดยน่าจะเคาะคนละครั้ง สำหรับ บมจ.แอดววานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอสหากเข้าประมูลและได้คลื่น 5 MHz ไปรวมกับของเดิมจะมีคลื่นผืนใหญ่ 20 MHz โดยเอไอเอสน่าจะเป็นผู้เลือกสล็อตก่อน โดยจะได้สิทธิการเลือก lot1 ที่ติดกับคลื่นเดิมแบบไม่มีเงื่อนไข

     บทเรียนการจัดประมูลครั้งนี้ที่ กสทช. ได้ใช้ความพยายามในการจัดการประมูลคลื่นให้สำเร็จทั้ง 2 รอบในปีนี้ ถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว โดยทั้งมีการปรับเกณฑ์และเงื่อนไขเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปรับจะไม่แตะเรื่องราคาตั้งต้นเลยก็ตาม เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องและเกรงผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมา โดยหากการประมูลครั้งนี้จบลง จะเป็นที่ชัดเจนว่าการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปควรเป็นหน้าที่ของกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่กระบวนการสรรหายังค้างคาอยู่

      นายสืบศักดิ์ คาดหวังว่า กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่จะสรรหาเข้ามาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในภาพรวมต่อกระบวนการวางแผนและจัดสรรคลื่นให้รองรับกิจการโทรคมนาคมที่กำลัจะพลิกโฉมและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเรียนรู้ข้อจำกัดและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดในกระบวนการประมูลคลื่นที่ผ่านๆ มา เพื่อให้การนำคลื่นออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งการพัฒนา 5G และโทรคมอื่นในอนาคต

       อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!